By Published On: มกราคม 31st, 2024Categories: กิจกรรม

กิจกรรมฝึกอบรมการทำต้นกุ่มสักการะพระเจ้าน่าน ในวันที่ 3 – 4 เมษายน 2564 ณ วัดดอนมูล บ้านดอนมูล ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ได้ผลสรุปจากการจัดกิจกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 60 คน และประดิษฐ์ต้นกุ้มแบบโบราณเพื่อใช้ในพิธิสักการะพระเจ้าน่านได้ทั้งหมด 30 ต้น โดยวิทยากรปราญช์ชุมชน สอนเทคนิคและวิธีการประดิษฐ์ต้นกุ่มแบบโบราณ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของต้นกุ่ม ต้นกุ่มคือพฤกษบูชาที่มีรูปลักษณะคล้ายพานพุ่มดอกไม้ทำมาจากต้นกล้วยทั้งต้น โดยชาวบ้านจะนำต้นกล้วยทั้งกิ่ง ก้าน และใบมาประดิษฐ์เป็นรูปทรงคล้ายพานพุ่มหรือรูปดอกบัวตกแต่งให้สวยงามด้วยหมาก พลู และดอกไม้ต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระรัตนตรัย

ต้นกุ่ม 1 ต้นจะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนฐาน ส่วนกิ่ง และส่วนยอดสิ่งสำคัญในการประดิษฐ์ต้นกลุ่มคือต้องทำมาจากต้นกล้วยทั้งต้น ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ก้าน ใบ เครื่องตกแต่งประกอบด้วยต้นหมากพู ดอกไม้ตามฤดูกาล และเทียน โดยเลือกใช้วัสดุในการตกแต่งที่หาได้จากท้องถิ่นซึ่งแต่ละชุมชนก็จะทำต้นกลุ่มที่แตกต่างกันไปวิธีการประดิษฐ์ต้นกลุ่มนั้นขึ้นอยู่กับความชำนาญในการทำให้เกิดความสมดุล และความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละชุมชนการประดิษฐ์ต้นกลุ่ม มีการประยุกต์โดยการใช้ฐานเป็นพานที่ทำจากไม้หรือเหล็กเพราะเป็นโครงสร้างถาวรคงทนและมีน้ำหนักเบากว่าโดยทำรูปลักษณะให้เหมือนต้นกุ่มที่ทำมาจากต้นกล้วยและนำดอกไม้และใบตองมาประดับเป็นต้นกลุ่มซึ่งสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

ที่มาของต้นกุ่มไม่อาจสืบได้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด เชื่อกันว่าพระเจ้าน่านในอดีต ได้เคยประดิษฐ์ต้นกลุ่มเพื่อไปถวายเป็นเครื่องพุทธบูชา โดยต้นกลุ่มที่นำไปถวายนั้นทำมาจากต้นกล้วย โดยมีการนำกาบกล้วยมาพันรอบต้นกล้วยจากนั้นประดับด้วยใบตองและดอกไม้ทำให้ต้นกุ่มโดยทั่วไปมีขนาดกว้างประมาณเกือบ 1 ฟุตต่อมาได้มีการฟื้นฟูการประดิษฐ์ต้นกุ่ม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่านร่วมกับพระครูธรรมธานี ได้มีการประกวดต้นกลุ่มในเขตเทศบาลเมืองน่านและมีการรณรงค์ให้ประดิษฐ์ต้นกลุ่มอีกครั้งในงานวันเมืองเก่าน่าน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่านได้ขอความร่วมมือให้ชุมชนและหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลิตต้นกุ่มมาถวายพุทธบูชาอดีตพระเจ้าหน้าทั้ง 64 พระองค์ณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน และในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นต้นกลุ่มที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ถวายเป็นพุทธบูชาในวันพระขึ้น 8 ค่ำ 15 ค่ำ งานขึ้นพระธาตุ สืบชะตา การแสดงธรรมเทศนา งานสมโภช งานถวายทานเจดีย์และการขอขมาผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน

ชุมชนกลุ่มคนที่ประดิษฐ์ต้นกลุ่มจะอยู่ในช่วงวัยผู้สูงอายุ วัยกลางคนและวัยเด็ก หออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชนน่าน เห็นความสำคัญและส่งเสริมให้ต้นกุ่มเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการส่งเสริมท่องเที่ยวและการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมรวม ทั้งการกระตุ้นการถ่ายทอดวิธีการประดิษฐ์ต้นกุ่มไปสู่เด็กและเยาวชน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ดีงามของคนในเมืองน่านให้สืบต่อไป

โดยหลังจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้นำต้นกุ่ม จำนวน 10 คู่ ให้หน่วยงานที่สนใจใช้ต้นกุ่มแบบโบราณในการเข้าร่วมพิธีถวายเครื่องสักการะแด่พระเจ้าน่านพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เนื่องวันคล้ายวันพิราลัยของพระองค์ วันที่ 5 เมษายน 2564 ณ ลานด้านหน้าอนุสาวรีย์พระเจ้าน่าน หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซึ่งถึงเป็นการฝึกอบรมที่เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการอนุรักษ์ สืบสาน ภูมิปัญญาดั้งเดิม และเกิดการนำไปใช้ได้จริงในพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง หออัตลักษณ์นครน่านและทางชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม จะดำเนินการทำคู่มือขั้นตอนการประดิษฐ์ต้นกุ่มแบบโบราณเพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ภูมิปัญญาของคนน่านให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป