By Published On: มกราคม 31st, 2024Categories: Uncategorized

เส้นทางเรือน่าน

เรือยาว มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ เป็นกีฬาชาวบ้านอันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันดีงามความผูกพัน ระหว่างสายน้ำ กับชีวิต เรือกับวิถีชีวิต บนพื้นฐานของ ความศรัทธา เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธศาสนา อันนำมาซึ่งความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชน ประเด็นที่น่าสนใจคือพัฒนาการรูปแบบของตัวเรือแข่งที่มีพลวัตรเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง

พัฒนารูปแบบเรือแข่งน่าน แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา

ยุคดั้งเดิมเมืองน่านจากตำนาน ร่วม 200 ปี ถึงปี 2521(สล่าประจำหมู่บ้าน) “เรือขี้ขะย้า”

เป็นการขุดเรือเรือแข่งแบบเก่าแก่ของ จังหวัดน่านที่ขุดโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวคือ เมื่อได้ไม้ซุงมาแล้วก็พิจารณารูปทรง โดยทั่วไปมักจะใช้ด้านโคนของซุงเป็นหัวเรือ แต่ก็มีช่างบางคนที่ใช้ส่วนปลายซุงเป็นส่วนหัวเรือ

มีกราบเรือประกบทั้งสองข้าง และนำ “ขี้ขะย้า” คือ การนำเอากวาง ( ยางไม้ชนิดหนึ่งมีสีน้ำตาล ) และน้ำมันยางมาต้มให้ละลายเข้าด้วยกัน ถ้าต้องการให้ขี้ขะย้าเป็นสีขาวก็จะนำไปต้มกับไม้ผลที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะกรูด มะนาว มะเฟือง

ยุคพัฒนาการ นับปี 2550-2552 เรือหงส์ อิทธิพลเรือภาคกลาง (สล่าภาคกลาง)

เป็นปีแรกที่ชุมชนลุ่มน้ำต่างๆเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเรือขี้ขะย้าให้กลายเป็นเรือแบบหงส์ มีการว่าจ้างจากสล่าภาคกลาง(จ.พิจิตร)ขึ้นมา ปรับเปลี่ยนรูปเรือให้กลายเป็นเรือแบบภาคกลาง คือเรือแข่งบ้านน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา เป็นลำแรกๆ…จากนั้นกลายเป็นค่านิยมแพร่กระจายทั่วจังหวัดน่าน ทำให้รูปแบบเรือโบราณจาก 200 กว่าลำเรือไม่ถึง 10 ลำ

รูปแบบงานศิลปกรรม หัวเรือ หางเรือ ตัวเรือ มีการนำเอาลวดลายไทยแบบภาคกลางเข้ามาผสมผสาน

ยุคอนุรักษ์ แสวงหา เอกลักษณ์เรือแข่งเมืองน่าน(ความพยายามในการรักษารูปแบบและเอกลักษณ์ตัวเรือแข่งเมืองน่าน) ประมาณ ปี 2556 สภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน กำหนดรูปแบบเอกลักษณ์เรือจังหวัดน่านเพื่อพยายามที่จะรักษาอัตลักษณ์คุณค่าความงามทางด้านศิลปกรรมและจิตวิญญาณเมืองน่าน

สู่ขวัญเรือ

ประเพณีการทำพิธี สู่ขวัญและสมโภชเรือ เป็นประเพณีสู่ขวัญเรือพญานาค ได้สืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะนำเรือแข่งลงสนามทุกปีชาวบ้านจะทำพิธีสู่ขวัญเรือก่อนเสมอ เพื่อเป็นการปลุกเร้าจิตใจฝีพายและเป็นการรวมพลังแห่งความรักความสามัคคีของชุมชน ก่อนที่จะถึงเทศกาลแข่งเรือ หรือก่อนที่จะนำเรือแข่งลงสู่แม่น้ำน่าน หรือเมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลแข่งเรือก่อนที่จะนำเรือแข่งไปเก็บในโรงเก็บเรือ หมู่บ้าน-ชุมชนที่มีเรือแข่งจะมีพิธีกรรมการบายศรีสู่ขวัญเรือแข่ง โดยที่ชาวบ้านจะช่วยกันนำเอากัญญาหัวหรือแก๋นหัวหรือโงนหัวกัญญาท้ายหรือแก๋นท้าย หรือโงนหาง หัวเรือและหางวรรณ มาสวมเข้ากับลำเรือแข่ง ช่วยกันตกแต่งด้วยพวงมาลัย ดอกไม้ หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันจัดทำเครื่องบายศรีสู่ขวัญเรือ เมื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเรือเสร็จ บรรดาฝีพายก็จะพากันยกเรือแข่งลงสู่แม่น้ำพร้อมกับเปล่งเสียง ไชโยๆๆเพื่อปลุกกำลังใจให้ฝีพายมีความหึกเหิมเพื่อรวมใจฝีพายให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำชัยชนะมาสู่เรือแข่งลำนั้น เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้าน-ชุมชนของตนเองต่อไป ถือว่าเป็นการเสร็จพิธีกรรมการอัญเชิญเรือแข่งลงสู่แม่น้ำ

ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน (ปลอดเหล้า-เบียร์) ประจำปี ๒๕๖๒

ความงดงามไม่เหมือนเรือแข่งจังหวัดใดในประเทศไทยกับความเชื่อว่าพญานาคมีความศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ สามารถทำไร่ ทำนาได้ตามฤดูกาล ประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการแข่งเรืออยู่หลายอย่าง ที่สอดแทรกเป็นกุศโลบายในการสร้างความรัก ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนเมืองน่าน

ถือได้ว่าเป็นการรวมน้ำใจ รวมจิตวิญญาณ ผสมผสานของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในชุมชนหมู่บ้านที่มีเรือ หากถึงเทศกาลแข่งเรือ ก็จะนำเรือลงน้ำ เพื่อฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน ชาวบ้านจะนำข้าวห่อ เงินทองมาช่วยกันสนับสนุนเรือของหมู่บ้านของตน จึงถือได้ว่า “การแข่งเรือเมืองน่าน ถือเป็นสมบัติ เป็นมรดกของคนน่านทั้งจังหวัด ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง”

ปฏิทินจัดงานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน (ปลอดเหล้า-เบียร์) 2562

๑. ประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา “แข่งเรือปลอดเหล้า เข้าพรรษา เข้าหาพระธรรม”
วันเสาร์ที่ ๓๑ สิงหาคม ถึง วันอาทิตย์ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ณ เชิงสะพานท่าวังผาพัฒนา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ถ่ายทอดสด ไทยพีบีเอส

๒. ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน ( นัดเปิดสนาม ) ชิงถ้วยพระราชทานฯปลอดเหล้า – เบียร์
ตานสลากภัตวัดพระธาตุช้างค้าวรวิหาร วันเสาร์ที่ ๑๔ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒

๓. ประเพณีแข่งเรือบ้านหนองเงือก ตำบลแงง อาเภอปัว จังหวัดน่าน
วันอาทิตย์ ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๒

๔. ประเพณีแข่งเรือตาบลน้าปั้ว ชิงถ้วยพระราชทานฯ ปลอดเหล้า – เบียร์
วันที่ วันเสาร์ที่5 ถึงวันอาทิตย์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๒

๕. ประเพณีแข่งเรือออกพรรษา ตานก๋วยสลาก วัดบุญยืนพระอารามหลวง ชิงถ้วยพระราชทานฯ
ปลอดเหล้า เบียร์ วันเสาร์ที่ ๑๒ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถ่ายทอดสด ไทยพีบีเอส

๖. ประเพณีแข่งเรือตักบาตรเทโวโรหณะวัดศิลามงคล
วันจันทร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒

๗. ประเพณีแข่งเรือเยาวชนจังหวัดน่านชิงถ้วยพระราชทานฯ ปลอดเหล้า เบียร์
วันเสาร์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ท่าน้าบ้านเจดีย์ ตำบลดู่ใต้ อาเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

๘. ประเพณีแข่งเรือตานสลากจูมปูตาบลดู่ใต้ ชิงถ้วยพระราชทานฯ ปลอดเหล้า เบียร์
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ท่าน้าบ้านเจดีย์ ตำบลดู่ใต้ อาเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

๙. ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน ( นัดปิดสนาม ) ชิงถ้วยพระราชทาน เฉลิมฉลองกฐินพระราชทาน
วันศุกร์ที่ ๒๕ วันอาทิตย์ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๒

งานประเพณีแข่งเรือวันออกพรรษา ตานก๋วยสลากวัดบุญยืน ปลอดเหล้าเบียร์ ประจำปี 2562

ชิงถ้วยพระราชทานของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 12-13 ตุลาคม 2562 ณ สะพานข้ามแม่น้ำน่าน (ท่าน้ำบ้านป่ากล้วย)

“ปรากฏการณ์โหยหาอดีต” (Nostalgia) กับความท้าทายของการรักษาสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา สู่เวลาปัจจุบัน(contemporary)

วัฒนธรรมสายน้ำที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนกับสายน้ำ น่าน นครน่าน เป็นแหล่งต้นเกิดของแม่น้ำสายสำคัญถึงสองสายคือ ลำน้ำยม และลำน้ำน่าน โดยเฉพาะลำน้ำน่าน ถือเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนน่านมานานหลายชั่วอายุคน จึงทำให้ก่อเกิดประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำมากมาย หนึ่งในประเพณีที่สำคัญของ นครน่าน คืองานประเพณีแข่งเรือยาว เทศกาลออกพรรษา วัฒนธรรมทางสายน้ำถือเป็นการแข่งเรือยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่มีจำนวนเรือมากที่สุดในประเทศกว่า ๒๓๐ ลำ มีนักกีฬาชุมชนเข้าร่วมแข่งขัน มากที่สุดถึงราว ๘,๐๐๐คน ประเพณีแข่งเรือนครน่าน ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ พลวัตทางสังคมที่เกิดขึ้นของสังคมเมืองน่านที่มีแสดงพลังความศรัทธา ความเข้มแข็ง ของชุมชน ของสังคมเมืองน่าน ทั้งในด้านทุนทางวัฒนธรรมสังคม ที่เป็นต้นทุนไปสู่การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ประเพณีที่ยิ่งใหญ่นี้ยังคงอยู่และมีพัฒนาการรูปแบบการแข่งขันที่เป็นมาตราฐานกีฬาที่เป็นสากลมากขึ้น แต่คำถาม ข้อกังวลและความท้าทายของสังคมเมืองน่านยังคงอยู่ ค่านิยม และความเปลี่ยนแปลงของสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท ความอ่อนแอ และการอยู่ในสภาวะล่มสลายของ วัฒนธรรมชุมชน ส่งผลอย่างหนักหน่วงต่อประเพณีแข่งเรือ เมือชุมชนมีแต่ผู้สูงวัย(คนหนุ่มสาวหายไปจากชุมชน) ประเพณีที่ต้องการกำลังคนและกำลังสามัคคีธรรมอย่างสูงยิ่ง และเป็นดัชนีชี้วัดความสุขและความเข้มแข็งของชุมชนนั้นๆ ประเพณีเรือแข่งจะแสดงอาการเรานั้นออกมาอย่างชัดเจน…ปรากฏการณ์โหยหาอดีต” (Nostalgia) แสวงหาของแท้ และคุณค่าของอดีตจึงไม่พอ การอนุรักษ์ยังไปไม่ถึงซึ่งการสานต่อลมหายใจให้ประเพณีสายน้ำนี้ยังคงอยู่ การอนุรักษ์และการพัฒนา ที่ต้องไปด้วยกันแสวงหากลไกความสมดุล ผ่านศักยภาพของชุมชน และเปิดพื้นที่ ให้คนรุ่นต่อไปรับไม้ต่อนี้เผื่อรักษาประเพณีอันงดงามนี้ให้คงอยู่คู่น่านตลอดไป