ศาลเจ้าหลวงปู่ ภูคา อ.แห่งชาติดอยภูคา

พญาภูคา ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ภูคา (กาว) ปกครองเมืองย่าง สร้างเวียงศูนย์กลางการปกครองมีคูน้ำคันดินขึ้นบริเวณบ้านเสี้ยว (หมู่ที่ ๗ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน) ในลุ่มน้ำย่างใกล้กับดอยภูคา ซึ่งน้ำย่างเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ต่อมาได้สร้างเมืองปัว (เมืองวรนคร บริเวณตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่านในปัจจุบัน) ให้ขุนคำฟอง (ขุนฟอง) ราชบุตรบุญธรรมองค์เล็ก เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองปัว เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๘๒๕ ส่วนขุนนุ่น ราชบุตรบุญธรรมองค์โตส่งไปเป็นเจ้าเมืองจันทบุรี (หลวงพระบาง)

องค์ที่ ๑

ขุนคำฟอง (ขุนฟอง ) ครองเมืองวรนคร(ปัว) พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ราชวงศ์ภูคา(โอรสพญาภูคา ๒)

องค์ที่ ๒

พญาเก้าเกลื่อน ครองเมืองวรนคร(ปัว) ราชวงศ์ภูคา โอรสขุนคำฟอง (ขุนฟอง ) ครั้นขุนฟองพิราลัย เจ้าเก้าเถื่อน (เก้าเกลื่อน) ราชบุตรจึงครองเมืองปัวสืบมา ส่วนพญาภูคาเองก็มีชนมายุมาก มีพระราชประสงค์ให้พระนัดดามากินเมืองต่อ จึงส่งเสนาอำมาตย์ไปอัญเชิญ ด้วยเจ้าเก้าเถื่อน(เก้าเกลื่อน)เกรงพระทัยพระอัยกาจึงเสด็จครองเมืองย่างต่อจากพญาภูคา ชุมชนโบราณบริเวณพระธาตุจอมพริก อยู่ในเขตวัดพระธาตุจอมพริก ตำบลยม อำเภอท่าวังผา

องค์ที่ ๓

แม่ท้าวคำปิน ครองเมืองวรนคร(ปัว) ชายาพญาเก้าเกลื่อน ภายหลังพญางำเมืองเจ้าผู้ครองนครรัฐพะเยา สบโอกาสยกทัพมาปล้นเมืองปัว

อนุสาวรีย์ พญาผานอง อ.ปัว จ.น่าน

องค์ที่ ๔

พญาผานอง ครองเมืองวรนคร(ปัว) พ.ศ.๑๘๕๖ – ๑๘๙๔ โอรสพญาเก้าเกลื่น แม่ท้าวคำปิน

หลังจากยึดครอง เมืองวรนคร (เมืองปัว) และได้รับการสถาปนาเป็น “พญาผานอง” เมืองวรนคร จึงกลายชื่อมาเป็น เมืองปัว ซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังปรากฏชื่อเมืองปัวอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑ พญาผานองเสวยเมืองปัวอยู่ได้ ๓๐ ปี

กำแพงเมืองวรนคร อ.ปัว จ.น่าน

องค์ที่ ๕

ขุนใส ครองเมืองวรนคร(ปัว) พ.ศ.๑๘๙๔ – ๑๘๙๖ โอรสพญาผานอง

เจ้าใส(ขุนใส) หลังจากพญาผานองถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็อภิเษกให้เจ้าใสเสวยเมืองแทน เพราะเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาด แต่อยู่ได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่พิราลัยไป เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญ เจ้าการเมือง ขึ้นเสวยเมืองแทน

วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง จ.น่าน

องค์ที่ ๖

พญาการเมือง (ครานเมือง) ครองเมืองวรนคร(ปัว) – เวียงภูเพียงแช่แห้ง พ.ศ.๑๙๐๑ – ๑๙๐๖

พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาลและได้เลือกสถานที่ บรรจุพระบรมธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง ได้ระดมผู้คนก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่เนินแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรจุไว้ พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า “เวียงภูเพียงแช่แห้ง” เมือปี พ.ศ. ๑๙๐๒ โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง

ภาพจำลองเวียงน่าน (เวียงใต้) ด้านตะวันออก

องค์ที่ ๗

พญาผากอง โอรสพญาครานเมือง ครองเวียงภูเพียงแช่แห้ง – เวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๐๖ – ๑๙๓๕

พญาผากอง ทรงย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งแห่งใหม่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านบริเวณบ้านห้วยไคร้ที่เรียกในปัจจุบันว่า “เวียงใต้” และเรียกชื่อบ้านนามเมืองตามแม่น้ำน่านว่า “เมืองน่าน” ใน พ.ศ.๑๙๑๑ สาเหตุการย้ายสันนิษฐานว่าด้วยฝั่งตะวันออกแม่น้ำน่านเป็นที่เนินสูง จึงขัดสนเรื่องน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค จึงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองทางฝั่งทิศตะวันตก อันมีที่ราบลุ่มและกว้างขวางมากกว่า

อาณาจักรอยุธยา

องค์ที่ ๘

พญาคำตัน โอรสพญาผากอง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๓๖ – ๑๙๔๑

ความขัดแย้งกับแว่นแคว้นทางตอนใต้(อาณาจักรอยุธยา)ภายหลังจากรัชสมัยพญาผา กองยังคงปรากฏอย่างสืบเนื่องดังปรากฏพญาคำตันกษัตริย์แคว้นน่านราชบุตรองค์โตของพญาผากอง ถูกยาพิษลอบปลงพระชนม์จากคนที่กษัตริย์แคว้นทาง ตอนใต้(อาณาจักรอยุธยา) ส่งขึ้นมา

แม่น้ำน่านในอดีต

องค์ที่ ๙

พญาศรีจันทะ โอรสพญาคำตัน ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๔๑ – ๑๙๔๒

พญาศรีจันทะราชอนุชาพญาคำตันขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แคว้นน่านได้เพียง ๑ ปี แคว้นพลนคร (แพร่) ได้ยกกองทัพมายึดครองแคว้นน่าน

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

องค์ที่ ๑๐

พญาเถร โอรสพญาแพร่ปราบดาภิเษก ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๔๒ (๖ เดือน)

หลังเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของพญาคำตัน ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเจ้านายแคว้นพลนคร (แพร่) ได้ยกกองทัพมายึดครองแคว้นน่านถึง ๒ องค์ คือ พญาเถรและพญาออนโมง (พญาอุ่นเมือง) โดยเจ้านายทั้ง ๒ องค์ได้ยกกองทัพมาตีแคว้นน่านและจับพญาศรีจันทะ (ราชอนุชาพญาคำตัน) หลังจากได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แคว้นน่านได้เพียง ๑ ปี

ลิลิตพระลอ จ.แพร่

องค์ที่ ๑๑

พญาออนโมง (พญาอุ่นเมือง) พระอนุชาพญาเถร ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๔๒ – ๑๙๔๓

พญาอุ่นเมือง ครองเมืองน่านได้เพียง ๑ ปี เจ้าหุงอนุชาของเจ้าศรีจันต๊ะก็คุมพลชาวชะเลียงยกมารบพุ่งชิงเอาเมืองคืน เจ้าหุงจับตัวพระยาอุ่นเมืองได้นำไปถวายพระยาใต้และถูกกักตัวไว้ที่เมืองชะเลียงเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี และถึงแก่กรรมที่นั่นด้วย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียงหรือวัดพระปรางค์)

องค์ที่ ๑๒

พญาหุง พระอนุชาพญาศรีจันทะ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๔๓ – ๑๙๕๐

พญาหุงอนุชาของเจ้าศรีจันต๊ะคุมพลชาวชะเลียงยกมารบชิงเอาเมืองน่านคืนจากพระยาอุ่นเมือง ได้นำตัวไปถวายพระยาใต้และถูกกักตัวไว้ที่เมืองชะเลียง

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (วัดหลวงกลางเวียง)

องค์ที่ ๑๓

พญาภูเข็ง โอรสพญาหุง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๔๓ – ๑๙๕๐

เจ้าปู่เข่งครองเมืองน่าน ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพระธาตุเขาน้อย วัดพญาภู แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน

วัดศรีพันต้น

องค์ที่ ๑๔

พญาพันต้น ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๕๘ – ๑๙๖๗

พญาพันต้นเจ้าผู้ครองนครน่านเป็นผู้สร้างวัดศรีพันต้น ซึ่งชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี เป็นภาษาเหนือ หมายถึง ต้นโพธิ์)

พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี

องค์ที่ ๑๕

พญางั่วล้านผาสุม ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๕๘ – ๑๙๖๗

ในสมัยเจ้าปู่เข่งครองเมืองก็ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร, วัดพระธาตุเขาน้อย, วัดพญาภู แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อนพญางั่วล้านผาสุม ผู้เป็นหลานได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จและได้สร้าง พระพุทธรูปทองคำปางลีลา ปัจจุบันคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ได้เริ่มสร้างกำแพงเมืองน่านเพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันศัตรู นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันน้ำท่วมเข้าสู่ตัวเมือง

เกลือสินเธาว์โบราณ อ.บ่อเกลือ

องค์ที่ ๑๖

พญาอินทะแก่นท้าว โอรสพญางั่วล้านผาสุม ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๗๖ (๓ เดือน ) และพ.ศ. ๑๙๗๘ – ๑๙๙๓

เมื่อพญาอินทะแก่นท้าวได้เป็นกษัตริย์แคว้นน่าน ขณะนั้นอาณาจักรล้านนาที่ปกครองโดยพระเจ้าติโลกราชจึงยกกองทัพมาตียึดแคว้นน่าน มูลเหตุหลักที่พระเจ้าติโลกราชทรงอยากได้เมืองน่านไว้ในอาณาจักร เนื่องจากมีความประสงค์จะครอบครองแหล่งเกลือ บ่อมาง (ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน) เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นมา ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี

กำแพงเมืองน่าน

องค์ที่ ๑๗

พญาแพง พระอนุชาพญาอินทะแก่นท้าว ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๗๗ – ๑๙๗๘

พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่

องค์ที่ ๑๘

พญาผาแสง โอรสพญาแพง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๑๙๙๓ – ๒๐๐๔

เมื่อยึดแคว้นน่านได้แล้ว พระเจ้าติโลกราชจึงโปรดแต่งตั้งพญาผาแสง ราชบุตรท้าวแพง ให้เป็นกษัตริย์แคว้นน่านองค์สุดท้าย (พ.ศ.๑๙๙๒ – ๒๐๐๔) ในฐานะประเทศราชของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๙๒ ขณะที่แคว้นสุโขทัยก็ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรอยุธยาก่อนหน้านี้เช่นกันใน พ.ศ.๑๙๘๑ ภายหลังจากพญาผาแสงทรงถึงแก่พิราลัย พระเจ้าติโลกราชได้ยกเลิกการสืบสันตติวงศ์ ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์ในราชวงศ์ภูคา

ภาพจำลองเมืองน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๑๙

หมื่นแซ่หม้อ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๐๕ (๓ เดือน)

ตั้งแต่แคว้นน่านผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาใน พ.ศ.๑๙๙๒ และพญาผาแสง กษัตริย์แคว้นน่านที่ปกครองในฐานะเมืองประเทศราชได้ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ.๒๐๐๔ แคว้นน่านได้กลายเป็นหัวเมืองหนึ่งของอาณาจักรล้านนา มีเจ้าเมืองขึ้นตรงกับกษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังรายที่เมืองเชียงใหม่ กษัตริย์ล้านนาที่เชียงใหม่ได้จัดส่งเจ้านายขุนนางผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าเมืองน่าน เมืองน่านยุคนี้ผู้ปกครองจึงมีสถานะเป็น “เจ้าเมือง” ขึ้นตรงต่อ “กษัตริย์ล้านนา” ที่เมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองน่านคนแรกในยุคนี้คือหมื่นแช่หมอ ปกครองได้ ๓ เดือน

กำแพงเมืองน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๒๐

หมื่นสร้อย (เชียงของ) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๐๕ – ๒๐๐๙

พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ ๙ โปรดให้หมื่นสร้อย เจ้าเมืองเชียงของ มาเป็นเจ้าเมืองน่านคนที่ ๒ แทน ต่อมาไปครองเมืองฝาง

วิถีชีวิตริมน้ำ ในอดีต

องค์ที่ ๒๑

หมื่นน้อยใน ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๐๙ – ๒๐๑๑

หลังจากหมื่นสร้อย พระเจ้าติโลกราชได้แต่งตั้งหมื่นน้อยในมาเป็นเจ้าเมืองน่าน ยุคนี้จึงเป็นช่วงสมัยที่เมืองน่านเป็นเพียงหัวเมืองบริวารหัวเมืองหนึ่งที่ขึ้นตรงต่ออาณาจักรล้านนาที่เมืองเชียงใหม่ ภายหลังถูกพระเจ้าติโลกราชสั่งประหารเพราะทำผิดอาญา

ภาพจำลองวัดภูมินทร์

องค์ที่ ๒๒

หมื่นขวาเฒ่าบาจาย ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๑๒ – ๒๐๑๖ ถึงแก่กรรมในเมืองน่าน

ภาพจำลองประตูเมืองน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๒๓

หมื่นคำ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๑๖ – ๒๐๑๘ ขึ้นครองเมืองแทนหมื่นขวาเฒ่าบาจายที่ถึงแก่กรรมต่อมาไปครองเมืองฝาง

ศาลท้าวขาก่าน วัดพระธาตุแช่งแห้ง

องค์ที่ ๒๔

ท้าวขาก่าน ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๑๙ – ๒๐๒๓

ในปีพุทธศักราช ๒๐๑๙ พระเจ้าติโลกราชได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าหลวงท้าวขาก่านมาปกครองนครน่าน เจ้าหลวงท้าวขาก่านได้นำพระธาตุรวมทั้งพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำที่ขุดได้ทั้งหมดมาประดิษฐานไว้ ณ บนดอยภูเพียงแช่แห้งตามเดิม และก่อเจดีย์ สูง ๖ วาคร่อมไว้

วัดพระธาตุแช่งแห้ง จ.น่าน

องค์ที่ ๒๕

ท้าวอ้าย(ยวม) บุตรท้าวขาก่าน ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๒๔ – ๒๐๒๘

ท้าวอ้ายยวมได้บูรณะซ่อมแซมพระธาตุแช่แห้งโดยการก่อสร้างครอบองค์พระธาตุเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คือกว้าง ๑๐ วา สูง ๑๗ วา

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร จ.น่าน

องค์ที่ ๒๖

ท้าวเมืองตน บุตรท้าวอ้าย (ยวม) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๒๘ – ๒๐๓๒ ภายหลังถูกปลด

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๒๗

ท้าวเมืองตน บุตรท้าวอ้าย (ยวม) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๒๘ – ๒๐๓๒ ภายหลังถูกปลด

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๒๘

ท้าวบุญแฝง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๓๒ – ๒๐๓๙ ต่อมาไปครองเมืองเชียงแสน (เชียงราย)

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๒๙

หมื่นตีนเชียง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๓๙ – ๒๐๔๐ ต่อมาไปครองเมืองเชียงแสน(เชียงราย)

วัดพระธาตุเบ็งสกัด อ.ปัว

องค์ที่ ๓๐

หมื่นสามล้าน ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๕๐ – ๒๐๕๒ ต่อมาไปครองเมืองฝาง

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๓๑

เจ้าเมืองแพร่สร้อย ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๕๓ – ๒๐๕๖ ต่อมาครองเมืองลำปาง

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๓๒

หมื่นท้าวบุญฝาง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๕๖ – ๒๐๕๘ ต่อมาไปครองเมืองเทิง

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๓๓

เจ้าเมืองฝาง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๕๙ ต่อมาไปครองเมืองพะเยา

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๓๔

เจ้าพญานคร ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ. ๒๐5๙ (๑ เดือน)

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๓๕

เจ้าพญาแสนสงคราม (พญาคำยอดฟ้า) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๕๙ และพ.ศ.๒๐๖๐ – ๒๐๖๒ และพ.ศ.๒๐๖๙ – ๒๐๗๐

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๓๖

พญาหน่อ (เชียงแสน) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๖๐ – ๒๐๖๒ ต่อมาครองเมืองพะเยา

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๓๗

พญาพลเทพลือไชย ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๐๗๐ – ๒๑๐๑ มาจากลำปาง มีสถานะเทียบเท่าเจ้าผู้ครองนครน่าน พ.ศ.๒๑๐๑ ล้านนาได้เป็นประเทศราชของพม่า เจ้าพญาพลเทพลือไชย เจ้าเมืองน่าน ได้หนีภัยไปเมืองหลวงพระบาง

วิหารพระเจ้าทันใจ วัดพระธาตุแช่แห้ง

องค์ที่ ๓๘

พญาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๐๓ – ๒๑๓๔

พระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์พม่า มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพญาหน่อคำเสถียรไชยสงครามขึ้นเป็นเจ้าเมืองน่านแทน ในยุคนี้เจ้าเมืองน่านขึ้นกับกษัตริย์ล้านนาและกษัตริย์ล้านนาขึ้นต่อพระมหากษัตริย์พม่า ในบางช่วงเจ้าเมืองน่านก็รับพระราชบัญชาจากพระมหากษัตริย์พม่าโดยตรง เจ้าเมืองน่านจึงมีที่มาหลากหลายทั้งมาจากเจ้าฟ้าในรัฐฉานและเจ้านายขุนนางในล้านนา สับเปลี่ยนกันปกครองตามที่กษัตริย์ล้านนาและพระมหากษัตริย์พม่าโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุแช่แห้ง เช่น วิหารพระเจ้าทันใจ วิหารพุทธไสยาสน์ พระอุโบสถมหาอุตม์ เป็นต้น

วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

องค์ที่ ๓๙

เจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๓๔ – ๒๑๔๐ และพ.ศ.๒๑๔๓ – ๒๑๔๖

เมื่อพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามวัยชราก็ประชวรถึงแก่พิราลัยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ราชบุตรที่ ๑ จึงได้ครองเมืองน่านสืบมา เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ได้ขึ้นครองเมืองน่านในปี พ.ศ. ๒๑๓๔ หลังจากที่ครองเมืองได้ ๖ ปี ลุปี พ.ศ. ๒๑๓๙ โปรดให้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้น ในสมัยนั้นเมืองน่านขึ้นต่อเชียงใหม่ ซึ่งมีกษัตริย์เป็นพม่าครองอยู่ เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์คิดกู้อิสรภาพ จึงตั้งตนแข็งเมืองไม่ย่อมส่งส่วยให้พระเจ้าเชียงใหม่ (เจ้าฟ้าสารวดี) พระเจ้าเชียงใหม่ทรงทราบว่าเมืองน่านแข็งเมืองเช่นนั้น ก็ทรงยกกองทัพมาเพื่อปราบปราม เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์มีกำลังไพร่พลน้อยกว่า จึงพ่ายแพ้แก่กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ ล่าถอยหนีไปอาศัยอยู่กับพระเจ้าล้านช้าง ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เมื่อตีได้เมืองน่านแล้ว ก็แต่งตั้งพระยาแขกอยู่รักษาเมืองน่าน

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๔๐

พญาแขก ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๔๐ – ๒๑๔๓ รักษาเมืองแทนเจ้าเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์

ประตูท่าแพเชียงใหม่ในอดีต

องค์ที่ ๔๑

เจ้าพญาพลศึกซ้ายไชยสงคราม (เจ้าศรีสองเมือง) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๔๖ – ๒๑๕๘

เจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงคราม ผู้นี้เป็นสำคัญคนหนึ่งของล้านนาไทย ต่อมาภายหลังพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ประมุขของอาณาจักรล้านนาไทย ในยุคพม่าเรืองอำนาจ ท่านได้คิดกู้อิสรภาพทำการแข็งเมืองสู้รบกับพม่าผู้เกรียงไกรในยุคนั้น แต่ยังไม่ถึงคราวที่ล้านนาไทยจะเป็นอิสรภาพ พม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าจึงเป็นฝ่ายชนะ และจับกุมตัวพระองค์ไปกักขังไว้ที่กรุงอังวะ จนถึงแก่ทิวงคต ณ ที่นั้นเอง

หลวงพระบาง

องค์ที่ ๔๒

เจ้าอุ่นเมือง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๕๘ – ๒๑๖๘ น้องเจ้าศรีสองเมือง

ต่อมาได้หนีไปเมืองหลวงพระบาง

วัดพระธาตุลำปางหลวง

องค์ที่ ๔๓

พญาหลวงเมืองนคร ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๖๘ – ๒๑๘๑ ต่อมาได้หนีไปเมืองหลวงพระบาง เจ้าเมืองลำปางยกทัพมาตีน่าน

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๔๔

เจ้าพญาเชียงราย ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๘๑ – ๒๑๙๑

ภาพน่านในอดีต

องค์ที่ ๔๕

เจ้าพญาแหล่มุม ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๑๙๒ – ๒๒๐๕ มาจากเมืองเชียงของ ภายหลังถูกจับไปยังอยุธยา

กำเเพงเมืองน่านปัจจุบัน

องค์ที่ ๔๖

พญายอดใจ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๒๐๘ – ๒๒๓๐

ภาพอาณาจักรล้านช้าง ในอดีต

องค์ที่ ๔๗

เจ้าพญาเมืองราชา ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๒๓๒ – ๒๒๔๖

พระเมืองราชาร่วมกับลาวแสนแก้วทำการแข็งเมืองต่อพม่าพระเจ้ากรุงอังวะได้ยกทัพมาปราบปราม พระเมืองราชา และลาวแสนแก้วอพยพหลบหนีไปเมืองล้านช้าง พม่าเข้าเมืองได้และเผาเมืองเสีย เมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างไปห้าปี

ภาพ การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๔๘

พระนาซ้าย (เจ้าน้อยอินทร์) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๒๕๐ – ๒๒๕๑ พม่าให้ดูแลเมืองน่านที่ถูกทิ้งร้าง ต่อมาเลื่อนยศเป็น พญานาขวา

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๔๙

เจ้าฟ้าเมืองคอง ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๒๕๑ – ๒๒๕๗

ขุนนางพม่า ได้สร้างบ้านแปงเมืองน่านอีกครั้ง มยองคอง เป็นภาษาพม่า แปลว่าผู้ดูแลที่ดิน เกษตรกรรม และชลประทาน

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๕๐

เจ้าฟ้าม่วยชา ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๒๕๗ – ๒๒๕๙

เจ้าฟ้าเมียวซาขุนนางพม่าได้รวบรวมผู้คนตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๕๑ – ๒๒๕๗ และเจ้าฟ้าเมียวซาได้ปกครองดูแลเมืองน่านต่อมาจนพิราลัย

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๕๑

พญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๒๖๙-๒๒๙๔

พระนาขวาผู้รักษาเมืองได้ขออนุญาตพระเจ้าอังวะเชิญพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่มาเป็นเจ้าเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๒๖๙ เมืองน่านจึงกลับมีเจ้าผู้ครองนคร โดยการสืบเชื้อสายอีกครั้งหนึ่งเรียกว่า ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ และเป็นบรรพบุรุษต้นสายสกุล ณ น่าน ต่อมาพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ครองเมืองน่านได้ ๒๖ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๖๙ – ๒๒๙๔ จึงพิราลัย เจ้าอริยวงศ์ (หวั่นท๊อก) ผู้เป็นโอรสได้ครองเมืองน่านต่อมา

ภาพจำลอง การอยู่อาศัยของคนน่าน ในอดีต

องค์ที่ ๕๒

พญาอริยวงศ์ (หวั่นท๊อก) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ.๒๒๙๗-๒๓๑๑ บุตรพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ หวั่นท็อก เป็นตำแหน่งขุนนางของพม่า

การอยู่อาศัยของคนน่าน

องค์ที่ ๕๓

เจ้านายอ้าย หลานเจ้าอริยวงศ์ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ. ๒๓๑๑-๒๓๑๒

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

องค์ที่ ๕๔

เจ้าหนานมโน ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ. ๒๓๑๒ – ๒๓๑๗

พ.ศ.๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ พญาจ่าบ้านเมืองเชียงใหม่เจ้าท้าววะเจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองลำพูนได้เข้าสวามิภักดิ์ และได้นำกำลังสมทบช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เข้าตีเมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนแม่ทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้เกณฑ์กำลังจากเมืองน่านไปช่วย เจ้าหนานมโนได้มอบให้เจ้าน้อยวิฑูรโอรสเจ้าอริยวงศ์นำกำลังไปช่วย แต่ฝ่ายพม่าแพ้ เจ้าน้อยวิฑูรถูกจับไปเมืองลำปาง เมืองน่านยอมเข้ามาสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทย เจ้าน้อยวิฑูรได้กลับไปครองเมืองน่านเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗

พระเจ้ากาวิละ

องค์ที่ ๕๕

พญาวิทูร (เจ้าน้อยวิทูร) ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ. ๒๓๑๗ – ๒๓๑๒

พ.ศ.๒๓๑๗ พม่ายกกำลังมาทางปากงาวตีเมืองน่านแตก เจ้าน้อยวิฑูรพาไพร่พลหนีไปตั่งมั่นอยู่บริเวณด้านใต้ของแม่ชลิม (อำเภอแม่จริม) รวบรวมไพร่พลแล้วยกกำลังเข้าตีพม่าแตกกลับได้ และได้ครองเมืองน่านต่อมา

พ.ศ.๒๓๑๘ พม่ายกกำลังเข้าตีเมืองน่านอีก เจ้าอริวงศ์ และเจ้าน้อยวิฑูร ต้องอพยพไพร่พลมาตั้งอยู่ที่บ้านนาพัง และในปีต่อมา เจ้าน้อยวิฑูรได้ไปอยู่ที่ลำปาง ส่วนเจ้าอริยวงศ์ พร้อมเจ้าจันทปโชติบุตรชายคนโต รวมทั้งครอบครัว และไพร่ไทยไปอาศัยอยู่ที่เมืองจันทบุรีล้านช้าง (เวียงจันทน์)

พ.ศ.๒๓๒๑ เจ้าน้อยวิฑูรไม่ตั้งอยู่ในสัจจะต่อกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พญากาวิละ เจ้าเมืองลำปางควบคุมตัว และครอบครัวส่งมายังกรุงธนบุรี กองทัพพม่าจากเมืองเชียงแสน ได้ยกกำลังมากวาดต้อนผู้คนในเมืองน่านไปไว้ที่เมืองเชียงแสน เมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างเป็นครั้งที่สองเป็นเวลาถึง ๒๓ ปี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑

องค์ที่ ๕๖

พระยามงคลวรยศ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) พ.ศ. ๒๓๒๖ – ๒๓๒๙ (๔ ปี)

พ.ศ.๒๓๒๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เจ้าหมานจันทปโชติ โอรสเจ้าอริยวงศ์ที่รับราชการมาจนเป็นที่โปรดปราน ขึ้นเป็นเจ้ามงคลวรยศ และให้กลับมาครองเมืองน่าน เจ้ามงคลวรยศจึงไปตั้งมั่นอยู่ที่บ้านท่าปลา ฝ่ายพม่าได้แต่งตั้งให้เจ้าอัตถวรปัญโญ หลานของเจ้ามงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองน่าน ในปีต่อมาเช่นกัน โดยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเทิง ส่วนเจ้าสมณะน้องชายเจ้ามงคลวรยศ ไปตั้งอยู่ที่เวียงสา พ.ศ.๒๓๒๙ เจ้ามงคลวรยศ ได้ยกเมืองน่านให้เจ้าอัตวรปัญโญขึ้นครองแทน

รูปปั้นจำลอง พระยาอัตถวรปัญโญ หออัตลักษณ์นครน่าน

องค์ที่ ๕๗

พระยาอัตถวรปัญโญ พระราชนัดดาในพระยามงคลวรยศ ครองเวียงน่าน (เวียงใต้) ๒๓๒๙ – ๒๓๕๓ (๒๔ ปี)

พ.ศ.๒๓๓๑ พระยาอัตถวรปัญโญ ได้ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าสุมนเทวราช (เจ้าสมณะ) เป็นเจ้าพระยาหอหน้า พระยาอัตถวรปัญโญ ยังมิได้เข้าไปอยู่ในตัวเมืองน่าน เนื่องจากยังรกร้างอยู่ ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ คือ ที่บ้านต๊ดบุญเรือน ที่เมืองแก้ว และที่เมืองพ้อ ขณะเดียวกันได้ทำนุบำรุงวัดตามบ้านเมืองนั้น ๆ ขึ้น เช่น

พ.ศ.๒๓๓๗ ซ่อมแซมพระธาตุแช่แห้ง และวิหารพระเจ้าทันใจ

พ.ศ.๒๓๓๘ สร้างปราสาทหอธรรมที่วัดกลางเมือง (อำเภอเวียงสา)

พ.ศ.๒๓๔๐ – ๒๓๔๓ สร้างวิหารหลวงวัดบุญยืน

พ.ศ.๒๓๔๓ สร้างพระพุทธรูปยืนลงรักปิดทอง ประดิษฐานไว้ในวิหารหลวงวัดบุญยืน

พ.ศ. ๒๓๔๙ ทรงเกณฑ์กำลังพลก่อสร้างพญานาค ๒ ข้างทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุแช่แห้ง นอกจากนี้ยังให้ขุดเหมืองฝายสมุนขึ้น เพื่อชักน้ำจากลำน้ำสมุน ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองน่านมาใช้ ที่บริเวณชานเมือง ทำให้เมืองน่านมีน้ำใช้ตลอดปี

พ.ศ.๒๓๔๓ – ๒๓๔๔ ให้มีการบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมือง และตัวเมืองน่านขึ้นใหม่ และกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่านเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๔

พ.ศ.๒๓๔๗ พระยาอัตถวรปัญโญได้นำกำลังของเมืองน่าน ร่วมกับเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง ช่วยเหลือกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ไปตีเมืองเชียงแสน และขับไล่พม่าออกไปจากผืนแผ่นดินไทยได้เด็ดขาด

พ.ศ.๒๓๕๓ เพระยาอัตถวรปัญโญ เดินทางไปกรุงเทพ ฯ เพื่อร่วมงานปลงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เกิดประชวร และพิราลัยที่กรุงเทพ ฯ

ค่ายสุริยพงษ์ จ.น่าน

องค์ที่ ๕๘

พระยาสุมนเทวราช พระมาตุลาในเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๕๓ – ๒๓๖๘ (๑๕ ปี)

พ.ศ.๒๓๖๐ สมัยเจ้าสุมนเทวราชเป็นเจ้าเมืองน่าน แม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางเกิดอุทกภัยน้ำท่วมตัวเมืองครั้งใหญ่ กระแสน้ำได้พัดพาเอากำแพงเมืองวัดวาอาราม และบ้านเรือนราษฎรเสียหายเป็นจำนวนมาก เจ้าสุมนเทวราชจึงให้ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านดงพระเนตรช้าง ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ และบ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านขึ้นไปทางเหนือ ประมาณ สองกิโลเมตร ใช้เวลาสร้างอยู่หกเดือนจึงแล้วเสร็จ พงศาวดารเมืองน่านได้กล่าวไว้ว่า คูเมืองด้านตะวันออกยาว ๙๔๐ ต่า ด้านตะวันตกยาว ๗๒๘ ต่า ด้านใต้ยาว ๓๙๓ ต่า ด้านเหนือยาว ๖๗๗ ต่า ปากคูกว้าง ๕ ศอก ท้องคูกว้าง ๔ ศอก ลึก ๙ ศอก ปัจจุบันยังพบร่องรอยคูน้ำคันดินอยู่

พ.ศ. ๒๓๕๙ นำช้างเผือกน้อมเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ ๒ เป็นช้างต้นนาม “พระยาเศวตคชลักษณ์”

เวียงจันทน์

องค์ที่ ๕๙

พระมหามหายศ โอรสในเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๖๘ – ๒๓๗๘ (๑๐ ปี)

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เกณฑ์พลน่านไปร่วมปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์

ในปี พ.ศ. ๒๓๗๐ น่านถูกเกณฑ์ไพร่พลไปรักษาเมืองหลวงพระบาง ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในอาณาจักรสยาม

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

องค์ที่ ๖๐

พระยาอชิตวงศ์ โอรสในเจ้าสุมนเทวราช ครองราชย์ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๗๙ (๗ เดือน)

ในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ขณะมาเข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๓ ได้ประชวรและถึงแก่พิราลัย

วัดพระเกิด จังหวัดน่าน

องค์ที่ ๖๑

พระยามหาวงศ์ ญาติฝ่ายพระชนนีในพระยาอชิตวงศ์ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๘๑ – พ.ศ. ๒๓๙๔ (๑๓ ปี)

ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ สร้างวัดพระเกิดและบูรณะวิหารวัดพระธาตุแช่แห้ง

ในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ นำช้างเผือกน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เป็นช้างต้นนาม “พระบรมนาเคทรนชา”

กฏหมายที่ใช้ปกครองเมืองน่าน “อาณาจักรหลักคำ”

องค์ที่ ๖๒

พระยาอนันตยศ (ทรงสถาปนาเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙) (โอรสในเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๕ – พ.ศ. ๒๔๓๕ (๔๐ ปี)

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ได้กำหนดกฏหมายที่ใช้ปกครองผู้คน อาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยได้ตรากฏหมายปกครองถิ่นเมืองน่าน “อาณาจักรหลักคำ” เพื่อไว้สั่งสอนห้ามปรามเจ้านาย ท้าว ขุน ลูก หลาน ไพร่ไทยทั้งหลาย อย่ากระทำกรรมไม่ดีสืบต่อไปภายหน้า

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ยกทัพไปสิบสองปันนาและเชียงรุ้ง เมื่อทัพไปถึงเมืองเชียงรุ้งขอสวามิภักดิ์เข้าขอบขัณฑสีมาต่อกรุงรันตโกสินทร์

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗-๒๓๙๘ น่านยกทัพไปช่วยทัพของกรมหลวงวงศาธิราช ตีเมืองเชียงรุ้ง

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ภายหลังสายน้ำเปลี่ยนทางเดินไปที่ใหม่ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงย้ายเมืองจากเวียงเหนือมาเวียงใต้ตามเดิม

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ ได้รับสถาปนาอิสริยยศเป็น “เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน”

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ – ๒๔๓๔ บูรณะวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ วัดพญาภูชา”

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ

คุ้มหลวงพระเจ้านครน่าน

สงครามปราบฮ่อ

องค์ที่ ๖๓

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ราชโอรสในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๓๖ – ๒๔๖๑

มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๓ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบเชื้อสายมาจากพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ และได้รับพระราชทานนามสกุล ณ น่าน เลื่อนยศถานันดรศักดินาเจ้านครเมืองน่าน ขึ้นเป็นพระเจ้านครน่าน มีชื่อในพระสุพรรณบัตรว่า “พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบูลย์ศักดิกิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตย์ณนันทราชวงษ์”

พระประวัติ

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชมีพระนามเดิมว่า “เจ้าสุริยะ ณ น่าน” ประสูติเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นราชโอรสในเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านกับแม่เจ้าสุนันทา

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ และทรงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาราชวงษ์ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าอุปราชนครน่าน และวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘ โปรดให้ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทานตั้งเป็นนายพันโทในกรมทหารบก เมื่อราชบิดาถึงแก่พิราลัย จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้านครน่านในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ มีราชทินนามว่าเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระเจ้านครเมืองน่าน มีนามตามจารึกสุพรรณบัฎว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุระมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิกิตติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ ณ นันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่านนับเป็นพระเจ้านครน่านองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่านนอกจากนี้พระองค์ยังได้รับพระราชทานมหามงกุฎจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าประเทศราชพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศนี้

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ถึงแก่พิราลัยด้วยโรคชรา ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๔.๐๐ น. ณ หอคำ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) สิริอายุได้ ๘๗ ปี

ด้านการปกครอง

กวาดต้อนและชักชวนให้ชุมชนไทลื้อในเมืองต่างๆ ของสิบสองปันนา ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน

ยกเลิกอำนาจโทษประหารทางอาญา

จัดวางผังเมือง ขยายถนนให้กว้างขวาง สะดวกแก่การสัญจรไปมา

ด้านการทหาร

ทรงนุบำรุงกิจการทหาร โดยการรวบรวมกำลังพลเข้าสังกัดมูลนาย ฝึกกำลังพลการรบ จัดตั้งยุ้งฉาง สะสมเสบียงอาหาร กระสุนดินดำ

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เมื่อครั้งดำรง ตำแหน่งที่เจ้าราชวงศ์นครน่าน ได้ทรงนำกำลังไปสมทบกับทัพหลวง

ครั้นปี พ.ศ. 2445 เกิดขบถเงี้ยวที่เมืองแพร่ โดยพวกขบถจะยกทัพมายึดนครน่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้ทรงยกกำลังทหารไปขัดตาทัพต่อสู้กับขบถเงี้ยว และได้ร่วมกับกองทัพหลวงตามตีจนได้รับชัยชนะ

ด้านศาสนา

ทรงสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ บูรณปฏิสังขรณ์วัดและบูชนียวัตถุเป็นอันมากและเป็นองค์ประธานในการจัดสร้างคัมภีร์ใบลาน จารึกพระธรรมคำสั่งสอนไว้เป็นจำนวนมาก โปรดให้สร้างหอพระไตรปิฏกหลังใหญ่ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร บูรณะวัดพระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นต้น

พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้ามหาพรหมสุรธาดา

เครื่องบินไชโยเจ้าผู้ครองนครน่าน ๑

ภาพพระราชทานเพลิงศพเจ้ามหาพรมสุรธาดา

องค์ที่ ๖๔

พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย ของ นครน่าน ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง การปกครองสยามประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ราชโอรสในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๖๑ – ๒๔๗๔

เจ้ามหาพรหมสุรธาดา มีพระนามเดิมว่า เจ้ามหาพรหม ณ น่าน ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๙ เป็นโอรสในเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ประสูติแต่เจ้าขอดแก้ว และเป็นอนุชาต่างเจ้ามารดาในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าราชวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเสนามหาดไทยจังหวัดน่าน และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าอุปราช ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์เอก ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ และเป็นมหาอำมาตย์โท ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่านและในปีถัดมาจึงได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้ามหาพรหมสุรธาดา นันทบุราธิวาศวงศ์ บรมราชประสงค์สฤษดิรักษ์ นิตยสวามิภักดิ์อาชวาศัย ประสาสนนัยวิจิตร กิติคุณาดิเรก เอกโยนกมหานคราธิบดี เจ้านครน่านโดยมียศทางพลเรือนเป็นมหาอำมาตย์โท และยศทางการทหารเป็นนายพลตรีเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ถึงแก่พิราลัยในวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุ ๘๕ ปี

การสร้างท่าอากาศยานน่าน

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซื้อเครื่องบินให้แก่กองทัพอากาศ จำนวน ๑ ลำ ซึ่งต่อมาพระองค์มีพระประสงค์จะชมเครื่องบินลำที่พระองค์ซื้อให้แก่กองทัพอากาศ จึงได้นำความปรึกษากับอำมาตย์เอกพระวรไชยวุฒิกรณ์ ปลัดมณฑลพายัพ เพื่อจัดสร้างสนามบินขึ้น เมื่อพระวรไชยวุฒิกรณ์เห็นชอบแล้ว จึงได้เกณฑ์แรงงานราษฎรทำการถากถางโค่นต้นไม้บริเวณตำบลหัวเวียงเหนือเพื่อสร้างสนามบินขึ้น โดยใช้เวลาในการสร้างประมาณ ๓ ปีเศษ จึงแล้วเสร็จ และทางกองทัพอากาศจึงได้นำเครื่องบินแบบ “เบเก้” จำนวน ๓ ลำ รวมทั้งลำที่เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ ได้ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อให้ บินจากกองทัพอากาศดอนเมืองถึงสนามบินน่านสำเร็จและลงอย่างปลอดภัย ครั้นเมื่อเครื่องบินได้กลับไปแล้วก็มิได้ใช้สนามบินนี้อีก คงปล่อยทิ้งไว้และได้รับการบำรุงรักษาตามสมควร

การพระราชทานเพลิงศพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์โท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เสด็จแทนพระองค์ พร้อมด้วยเจ้าพนักงานภูษามาลา กรมสนมพลเรือน ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้ามหาพรมสุรธาดา โดยพระราชทานโกศโถประกอบศพ มีฐานตั้งรองโกศ ๑ ชั้น พร้อมด้วยเครื่องอิสริยยศ ฉัตรเบญจาตั้ง ๔ คัน มีประโคมกลองชะนะ ๑๐ จ่าปี ๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ครั้นถึงวันที่ ๓ มีนาคม เวลาบ่าย จึงได้พระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานดอนชัย ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน