By Published On: มกราคม 31st, 2024Categories: นิทรรศการ

เมืองน่าน

วิทยาลัยชุมชนน่าน จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา เป็นสถานศึกษาซึ่งจัดการศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัย ให้บริการ ทางวิชาการ ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ของท้องถิ่นและชุมชน การพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างศักยภาพบุคคล ตอบสนองและสอดคล้องต่อความต้องการ และการประกอบอาชีพของท้องถิ่นและชุมชนซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ในหมวดวิชา GE วิชาจังหวัดศึกษา (Province Studies ) รหัสวิชา ศท 0301 เป็นวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาทุกสาขาต้องได้เรียนบทเรียนวิชานี้ เป็นการสร้างกรบวนการเรียนรู้ ศึกษาเรื่องของจังหวัดน่าน อันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยชุมชนน่าน ยึดโยงองค์ความรู้ ในด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การพัฒนาอาชีพและพาณิช สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเพณี ศาสนา บุคคลสำคัญ ภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนถึงศึกษาวิเคราะห์ ปัญหาและแนวทางการพัฒนาจังหวัดการวิเคราะห์เหตุปัจจัยและผลกระทบ การสังเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาและป้องกัน และแนวทางการพัฒนา ในฐานความเข้าใจในรากเหง้าของพื้นถิ่น และนี้คือหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อสร้าง Mindset ให้นักศึกษาเมือสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนไปแล้ว จะทำให้เขาและเธอได้รู้และเข้าใจในฐานของถิ่นฐานบ้านเกิดของตน เกิดความรักและห่วงแหนบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองได้เป็นอย่างดี ในปีการศึกษา 2561/1 ได้รับผิดชอบสอน ในรายวิชานี้กับนักศึกษา สาขาการบัญชี ปี 1 โดยออกแบบการสอนแบบ Block Course และ ใช้กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ มีขั้นตอนไว้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่ผู้เรียนมากที่สุด โดยใช้การสอนแบบผสมผสานเครื่องมือ ในมิติต่าง ที่เน้นทักษะทักษะกระบวนการ 9 ขั้น
1.ทักษะกระบวนการปฏิบัติ
2.ทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณาญาณ
3.ทักษะกระบวนการสร้างความตระหนัก
4.ทักษะกระบวนการสร้างเจตคติ
5.ทักษะกระบวนการสร้างค่านิยม
6.ทักษะกระบวนการเรียนความรู้ ความเข้าใจ
7.ทักษะกระบวนการเรียนภาษา
8.ทักษะกระบวนการแก้ปัญหาทักษะกระบวนการ สร้างความคิดรวบยอด

แม้เป็นเวลาเรียนรู้อันสั้น แต่เราได้สร้างคุณค่าของห้องเรียนและพื้นที่การเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ไปด้วยกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งบทเรียนสั้นๆในวิชานี้จะเป็นประโยชน์ให้นักศึกษานำไปใช้และต่อยอดได้ต่อไป ขอบคุณทุกท่านที่ใส่ใจและตั้งใจเรียนด้วยดีเสมอมา ขอบคุณมากครับ

ตัวอย่างความคิดเห็นนักศึกษา

คนที่ 1 ขอบคุณค่ะ. อาจารย์. ที่สอนวิชาน่านศึกษา ที่เกี่ยวกับจังหวัดน่าน ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับเมืองน่านมากๆ และได้รู้ ได้จินตนาการตามที่เรียนถึงประวัติความเป็นมา เป็นเมืองโบราณสถานที่ยาวนาน และงดงาม รู้ถึงว่าเป็นเมืองที่น่าคนหา และได้รู้ถึงที่ไปที่มาเกี่ยวกับบ้านเกิดตนเองมากขึ้น และยังสามารถเป็นแนวทางความรู้ให้แก่นักคึกษาอย่างดิฉัน สามารถอธิบายความเป็นมาแนะนำเพื่อนๆที่เข้ามาเยื่ยมชมเมืองน่านได้ กว้างขึ้นและยังมีข้อแนะนำได้ตามที่อาจารย์ สอนค่ะ

คนที่ 2 จากการที่ได้เห็นรายวิชา จังหวัดศึกษาในตอนที่เราลงทะเบียน ตอนแรกก่คิดว่า ทำไมต้องเรียนในเมื่อเราก็อยู่น่าน อยู่แล้วรู้สถานที่ท่องเที่ยว รู้แหล่งทำมาหากินทำไมถึงต้องมาเรียน? แต่เมื่อได้เริ่มเรียน สิ่งที่คิดกะสิ่งที่ได้เรียนรู้ มันมีอะไรที่แตกต่าง เริ่มได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมาเป็น “น่าน” ต้องผ่านมากี่ยุค ช่วงอายุของเมืองเก่าว่าแต่ละช่วงมีอายุเมืองเท่าไหร่ และคนสมัยนั้นชอบสร้างเมือง โดยที่หันหน้าเข้าแม่น้ำ หันหลังชนเขา และทำให้รู้ว่าแม่น้ำน่านอยู่ตรงไหนบ้าง 100ปี ทิศทางของแม่น้ำก็จะเปลี่ยน เมืองน่านในสมัยนั้นจะมีกำแพงเมือง ถึง 2 ชั้น มี7 ประตู 1 หนอง 12 วัดและสิ่งเหล่านี้ ที่ได้เรียนมาดิฉันสามารถบอกคนรอบข้างคนใกล้ชิดได้ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองน่านในยุคก่อนๆ แม้มันอาจจะไม่มากมายเท่าไหร่ แต่ดิฉันเชื่อได้ว่า พวกเขาก็คงไม่เคยรู้ ถ้าหากดิฉันไม่ได้เล่าให้ฟัง
(นางสาวมุกคริน. อินทะรังสี)

คนที่ 3 ขอบคุณอาจารย์มากนะค่ะ ที่สอนวิชาน่านศึกษาเกี่ยวกับจังหวัดน่าน และประวัติศาสตร์ของเมืองน่านต่างๆ หนูชอบเรื่องประวัติศาสตร์มากเลยค่ะ มีครูคนหนึ่งเคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาให้หนูฟังเรื่องราวของพญาภูคามาบางส่วน แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าที่มาของเมืองน่านนั้นเป็นมายังไง ต้องผ่านศึกสงครามอะไรมาบ้าง เจอเรื่องราวปัญหาอะไรมากมาย กว่าจะเป็นเมืองแต่ละเมืองต้องสูญเสียอะไรบ้าง ก่อนเรียนกันอาจารย์ตอนแรกวิชานี้นี้คิดว่าถ้าเรียนต้องง่วงนอนแน่ๆเลย พอได้มาเรียนตั้งแต่คาบแรก หนูไม่เคยง่วงนอนเลยค่ะ มีเรื่องให้เรียนรู้กิจกรรมมากมาย และได้ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่หนูชอบมากที่สุด ทำให้การเรียนวิชานี้เป็นวิชาที่สนุก จากที่อาจารย์เล่าประวัติศาสตร์เมืองน่านมา ทำให้หนูคิดภาพออกได้ว่าเมืองน่านสมัยโบราณเป็นยังไง และเมืองน่านในปัจจุบันมีที่มายังไงค่ะ สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากอาจารย์มีมากมายมากกว่าที่กล่าวไว้ข้างบน ขอบคุณอาจารย์มากนะค้ะที่ทำให้หนูได้เห็นคุณค่าของบ้านเมืองตัวเองมากกว่าที่เคยรู้มา (ขอบคุณมากค่ะ)

คนที่ 4 สำหรับรายวิชาน่านศึกษา ทำให้ได้รู้จักจังหวัดน่านมากขึ้น ทั้งๆที่เป็นคนน่านแต่ไม่เคยได้รู้ความเป็นมาขนาดนี้เลย วิชานี้ทำให้ได้รู้จักน่านมากขึ้น รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นณ.ตอนนี้ของจังหวัดน่านสำหรับอาจารย์ค่ะ…อาจารย์สอนแบบให้นักศึกษาไปเดาเอาเอง อาจารย์จะสอนแบบอธิบายเหมือนพวกหนูเป็นนักศึกษาป.โท 555 มันเลยทำให้พวกหนูงงกับงานว่าจะต้องทำยังไง..ในส่วนตัวหนูคือหนูไม่ค่อยชอบวิชาพวกสังคมประวัติศาสตร์เท่าไหร่เลยยิ่งทำให้หนูไม่เข้าใจงานมากขึ้น แต่ก็ผ่านมาด้วยดีค่ะชอบตอนไปทัศนศึกษาค่ะ เป็นเรื่องราวที่หนูไม่รู้มาก่อน สนุกปนสาระมากๆ ทำให้รู้จักน่านจริงๆๆ(มันเห็นภาพพร้อมมีคำบรรยายประกอบของจริง) ขอบคุณค่ะ

คนที่ 5 จังหวัดน่านจะเรียนไปทำไมในเมื่อเราๆก้อรู้จักกันดีอยู่แล้วไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจนี่คือความคิดแรกก่อนที่จะได้เรียนวิชาจังหวัดศึกษาแต่พอได้เข้าเรียนครั้งแรกแค่นั้นแหละต้องขอบพระคุณYutthaphum Su Prakanอาจารย์ผู้สอนมากๆค่ะทำให้ได้รู้ประวัติความเป็นมาของจังหวัดแม้กระทั่งสถานที่ต่างๆก้อมีเรื่องเล่ามีที่มาทำให้รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ครั้งแรกที่เรียนความรู้สึกเหมือนเด็กได้มาฟังนิทานและได้รับรู้การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองน่านรวมไปถึงสภาพปัญหาหลายๆอย่างและที่ประทับใจที่สุดคือเรื่องเล่าประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่น่านเป็นเมืองขึ้นของพม่าทำให้ความคิดหลายๆอย่างเปลี่ยนไปและหลายครั้งที่เพื่อนจากต่างจังหวัดมาเที่ยวน่านแล้วถามเรื่องราวที่มาแต่ไม่สามารถเล่าให้เพื่อนฟังได้แต่ตอนนี้สามารถบอกเล่าและแนะนำสถานที่เที่ยวได้มากขึ้นแน่นอนค่ะ
(ทิพย์วัลย์ ใจก้อนแก้ว)


บทเรียนของชุมชน Participatory Landscape design for ชุมชนตำบลบ่อสวก

ชุมชนแห่งภูมิปัญญาที่มีชีวิต ส่งต่อมรดกจากรุ่นสู่รุ่น เมืองเก่าแห่งชายแดนล้านนาตะวันออก

ชุมชนประวัติศาสตร์แห่งนี้เมื่อ600กว่าปี เดิมทีเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนเผ่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์(ก่อนเมืองย่าง)ต่อมาได้มีผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ก่อตั้งเป็นชุมชนขึ้น พื้นที่ตรงนี้มีความพิเศษตรงที่   มีบ่อเกลือซึ่งในสมัยนั้นเกลือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกขานบ่อเกลือนี้ว่า”บ่อซวก”(ซวกที่แปลว่าเกลือนั้นเอง )และได้นำชื่อนี้มาตั้งเป็นนามขานของชุมชน ต่อมาเกิดการเรียกขานผิดเพี้ยน กลายเป็น”บ่อสวก” ภาษาถิ่นเหนือ ซวกกับสวกออกเสียงคล้ายๆกันนะ เป็นไปได้อยู่ ที่ผู้คนจะอ่านออกเสียงผิดเพี้ยนไป เมื่อก่อตั้งชุมชนแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้หรือหัวใจหลักของชุมชนก็คือ”วัด” วัดบ่อสวก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ 2365(สมัยเจ้าสุมนเทวราช)มีพื้นที่2ไร่ ภายในพระอุโบสถนั้นประดิษฐานพระประธานที่ทำจากไม้เป็นศิลปะแบบล้านนาหน้าบันของพระอุโบสถทำจากไม้ตามแบบดั้งเดิมของวัดในจังหวัดน่านประดับด้วยรูปเทพพนมด้านบนด้านล่างเป็นรูปครุฑที่แกะสลักจากไม้ด้านหน้าของวัดมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่และพระธาตุศรีจอมบ่อสวก ประดิษฐานอยู่

สภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชนเป็นที่ราบภูเขามีลำห้วยที่สำคัญ คือ ลำห้วยสวก ลำห้วยม่วง และลำห้วยน้ำจาง ไหลผ่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำต้นทุนทางการเกษตรของชุมชน ตำบลบ่อสวก แบ่งการปกครองออกเป็น 13หมู่บ้าน รวมจำนวนครัวเรือน 2,128 หลังคา ประชากรอาศัยรวม6,564 คน มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 20.11 ตารางกิโลเมตร ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรมและหัตถกรรม เป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้วิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนที่นี้ยังสงบและเรียบง่ายยังคงมีการ ดำรงอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามต่างๆให้คงอยู่ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน


วิชาน่านศึกษา ตอน ตามหาเมืองแรกก่อนเกิด รัฐนครน่านบทเรียนที่ 1 เรื่อง เมืองย่าง ? เมืองล่าง จากตำนานในประวัติศาสตร์สู่เรื่องเล่า และบันทึกในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

เมืองย่าง? เมืองโบราณ ที่นักประวัติศาสตร์พื้นถิ่นหลายคนพยายามค้นหา เรื่องราวทั้งหมดอาจเริ่มต้นที่ใดชักแห่ง เมื่อย้อนกลับไปศึกษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของเมืองน่าน มีบันทึกเริ่มต้นขึ้นราว พ.ศ. 1825 โดยพญาภูคา ผู้ที่ถือเป็นปฐมบทเจ้าผู้ครองนครรัฐชาวกาว ก่อนเกิดนครน่านในกาลต่อมา(ชาวกาวน่าน ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในศิลาจารึกปูหลานสบถกัน พ.ศ. 1935 ดำพงษ์กาวผนวกเข้ากับรัฐสุโขทัย/สมัยพญาลิไท)

สิ่งที่น่าสนใจ คือ พญาภูคาได้นำไพร่พล พร้อมชายามีนามว่า นางพญาจำปา จากเรื่องเล่าและตำนาน กล่าวถึงการอพยพครั้งใหญ่ มาจาก เมืองเงินยาง (หริรัญนครเงินยางเชียงลาว/เมืองเชียงลาว/เหริญญนครเงินยางเชียงแสน/นครยางคปุระ/เมืองท่าชาย(เมืองท่าทราย)/เงินยาง ในเหตุการณ์หลักการล่มสลายของเวียงโยนกไชยบุรีศรีช่างแสนหรือลาวจักราชหรือลางจง: ราชวงศ์ที่มีกษัตริย์สืบต่อกันมาถึง 24 องค์ ซึ่งล้วนใช่คำนำหน้าว่าลาว มีการส่งราชบุตรของตนออกไปครองเมืองต่างๆ เช่นพะเยา เชียงของ เชียงคำ ล้านช้าง ร่วมถึงน่านด้วย และเมื่อเหล่านี้จึงถือเป็นเครือญาติกันทั้งหมดทั้งสิ้น )

พญาภูคา เมื่อมาพบชัยภูมิที่เหมาะสมจึงมีการสร้างศูนย์อำนาจการปกครองที่เมืองใหม่ดินแดนแห่งนี้ เรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า เมืองล่าง (ต่อมาเพี้ยนเป็นเมืองย่าง) และกายเป็นชื่อเรียกแม่น้ำที่ไหลผ่านเขตชุมชนเมืองฝั่งด้านใต้ “แม่น้ำย่าง”(บริเวณ ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว เลยไปถึงลำน้ำปัว ใกล้ทิวเขาดอยภูคาสันเขาหลวงพระบาง ในเขตบ้านเสี้ยว บ้านทุ้งฆ้อง บ้านลอมกลาง ตำบลลม อำเภอท่าวังผา ในปัจจุบัน)อย่างไรก่อตามจากการค้นพบหลักฐานของชุมชนเองและนักวิชาการเอง ปรากฏร่องรอยของพื้นที่ในชุมชนมีคูน้ำ คันดิน สระน้ำโบราณ และกำแพงเมืองซ้อนกันอยู่โดยเฉพาะชุมชนบ้านเสี้ยว ที่เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน พระธาตุจอมพริก ที่มีขนาดคูน้ำ คันดิน และแนวกำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และยังปรากฏป้อมปราการทิศเหนือลักษณะที่พบเป็นสันกำแพงดินบนยอดดอยม่อนหลวง บ้านลอมกลางเป็นกำแพงเมืองสูงถึง 3 ชั้น ในแต่ละชั้นกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร ขนานไปกับยอดดอยม่อนหลวง และที่น่าสนใจอีประเด็นหนึ่งคือบนม่อนดอยหลวงเป็นที่ตั้งของชุมชนมาหลายชั่วอายุคนสามารถสืบตระกูลของแต่ละครอบครัวไปไกลถึง600 ปี จึงเป็นองค์ประกอบที่นำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่สามารถเชื้อได้ว่าน่าจะเป็นแนวคูเมืองของเมืองย่าง ตามตำนานการสร้างเมืองของพญาภูคา แม้ปัจจุบันนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ หลายท่านเสนอชุดความคิดและพยายามสืบค้นเพื่อหาหลักฐานที่จะสามารถเชื่อมโยงพื้นที่กับตำนาน แต่นั้นก็ยังคงต้องใช้ระยะเวลาและข้อพิสูจน์ กันต่อไป

นักประวัติศาสตร์โบราณคดีได้ให้ข้อคิดเห็นหลังลงไปสำรวจพื้นที่ไว้ว่า ถ้ามองตามหลักภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์ด้านวัฒนธรรม ภูมินิเวศน์ด้านองค์ประกอบของการก่อรูปของเมืองในยุคสมัยโบราณนั้น จากภูมิทัศน์ของพื้นที่ตั้งองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอยสูงที่สามารถมองเห็นชุมชนบริวารโดยรอบทิศ และมีแม่น้ำไหลผ่านคือแม่น้ำย่าง ประกอบกับแนวสันเขาทิวยาวที่เป็นดังปราการตามธรรมชาติ และหลักฐานของคูเมือง ภูเวียงโบราณบ้านยม อีกทั้งมีสระน้ำโบราณ ขนาดใหญ่ที่อยู่กลางชุมชน ที่มีมาอยู่นานแล้ว(ตามคำบอกเล่าของคนในชุมชน) ย้อมสมทบ ที่สามารถย้อมรับได้ว่าพื้นที่แห่งนี้ คือ เมืองย่างที่หายสาบสูญไป

อย่างไรก็ตามแม่จะมีผู้กล่าวถึงที่ตั้งของเมืองย่างก่อนหน้านี้ว่าน่าจะอยู่ที่บริเวณ น้ำตกศิลาเพชร ตำบลศิลาเพชร ว่าเป็นที่ตั้งของเมืองย่างโดยอ้างหลักฐานตำนานต้นโพธิ์ แต่นั้นก็ยังไม่มากพอ หรือมีคนเคยกล่าวว่าจริงแท้แล้วนั้นเมืองย่างตั้งอยู่ ณ แขวงหลสงน้ำทา (ประเทศลาว) ทั้งหมดยังจำเป็นต้องหาหลักฐานเชิงโบราณคดีและหาเวทีถกเถียงเชิงวิชาการกันต่อไป

สุดท้าย คูเวียงโบราณ ที่อยู่ในชุมชนม่อนดอยหลวง โดยเฉพาะชุมชนบ้านเสี้ยวที่มีพระธาตจอมพริกศิลปกรรมร่วมยุคสมัยในตอนนั้น ยังคงต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อนำมาประมวลผลวิเคราะห์ตีความหาหลักฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี กันต่อไปว่าที่แห่งนี้จะใช้เมืองย่างในตำนานหรือไม่

ถ้าใช้ก็ถือว่าที่นี้คือมุดหมายครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน และย้อมมีผลต่อจิตนาการด้านประวัติศาสตร์ อยู่มากอย่างแน่นอน แต่ถ้าพื้นที่แห่งนี้เมื่อถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เมืองย่าง ก็ยังถือว่าต้องเป็นเมืองเวียงบริวารที่น่าจะมีฐานะ ความสำคัญอยู่มาก เพราะทิศที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นั้น แถบนี้ทั้งหมด เป็นเส้นทาง ต้นทางคุมเส้นทางขึ้นลงไปยัง บ่อเกลือทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงพลังเป็นยุทธ์ปัจจัยหลักในสมัยโบราณ ซึ่งจะพูดในบทเรียนครั้งต่อไป…เมืองย่าง เมืองแห่งพญากาวน่าน….หลวงปู่ภูคาปฐมกษัตริย์ ก่อนเกิดนครรัฐน่าน

วิชาน่านศึกษา ตอน ตามหาเมืองแรกก่อนเกิด รัฐนครน่านบทเรียนที่ 2 เรื่อง เวียงวรนคร(เมืองพลัว) เมืองปัว พ.ศ.1825-1906 ตำนานชู้รัก เพื่อรักษาดุลยภาพทางอำนาจทางการเมืองการปกครอง สู่นครรัฐอิสระ

ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เมืองน่านได้มีกำเนิดเป็นหลักฐานครั้งแรกที่เมืองวร-นคร (เมืองปัว) ในปัจจุบัน ตามพงศาวดารกล่าวว่า พระยาภูคาเจ้าเมืองย่าง (อยู่ในท้องที่ตำบลศิลาเพชร เมืองย่าง อำเภอปัว)    มีราชบุตร 2 องค์ องค์พี่ชื่อ “ขุนนุ่น” องค์น้องชื่อ “ขุนฟอง” เมื่อเจริญวัยขึ้น พระมหาเถรแตงได้สร้างเมืองทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงชื่อว่า “จันทบุรี” (หลวงพระบาง) ให้แก่ขุนนุ่นผู้พี่ แล้วสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำน่านชื่อว่า

“วรนคร” ให้แก่ขุนฟองผู้น้องและปันอาณาเขตของสองเมืองขึ้นคือฝ่ายวรนครทิศเหนือถึงเมืองท่านุ่นริมฝั่งแม่น้ำโขง ทิศใต้สุดศาลเมืองล่าง (เข้าใจว่าเป็นเมืองย่าง) เป็นแดน กาลเวลาดังกล่าวตกอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัย ทางอาณาจักรลานนาก็มีพระยางำเมืองเป็นเจ้าเมืองพะเยา และพระยาเม็งรายเป็นเจ้านครเชียงราย ในขั้นแรกที่สร้างเมืองนี้ขึ้นนั้น ไม่ปรากฏศักราชว่าเป็นพุทธ-ศักราช 1862 ก็ต่อเมื่อเจ้าเมืองวรนครได้ล่วงไปแล้วถึง 2 องค์ ถ้าจะคาดคะเนตามเหตุการณ์ในพงศาวดารเมืองน่านตอนนี้และนับถอยหลังหวนไปหาการตั้งเมืองวรนครแล้ว ก็ไม่เกิน 40 ปี คือประมาณ พ.ศ. 1825

แต่ตามพงศาวดารโยนกที่กล่าวตามตำนานเมืองเชียงแสนอันว่าด้วยลำดับวงศ์จักกราชซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของลานนาในเมืองเชียงราย กล่าวว่า นับตั้งแต่ลาวจักกราชไปได้ 12 ชั่วกษัตริย์ถึงพระยาลาวจังกาเรือนแก้ว ก็เสียเมืองไชยวรนครเชียงรายให้แก่พระยาน่านหรือนันทบุรีผู้ชื่อว่า “พระยากือคำล้าน” ราว พ.ศ. 1528 ประการหนึ่ง

กับเมื่อขุนเจืองกษัตริย์เมืองพะเยา ลำดับที่ 2 มีอายุได้ 16 ปี คือ พ.ศ. 1657 ได้มาคล้องช้าง ณ เมืองน่าน พระยาน่านผู้มีนามว่า “พลเทวะ” ยกราชธิดานามว่า “พระนางจันทรเทวี” ให้เป็นภรรยาของขุนเจือง

หรือในขั้นหลังที่สุด เมื่อขุนเจืองได้ปราบดาภิเษกครองเมืองแกวได้ 14 ปี คือ พ.ศ.1691 มีโอรสกับพระนางอู่แก้วราชธิดาพระยาแกว 3 องค์ ผู้พี่ชื่อ “ท้าวอ้ายผาเรือง” ผู้กลางชื่อ “ท้าว ยี่คำหาว” ผู้น้องชื่อ “ท้าวสามชุมแสง” ครั้นราชกุมารทั้งสามเจริญวัยแล้ว จึงยกราชสมบัติเมืองแกวให้แก่ท้าวอ้ายผาเรืองผู้เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ แล้วโอรสผู้กลางชื่อท้าวยี่คำหาวให้ไปเป็นพระยาครองเมืองลานช้าง และโอรสผู้น้องอันชื่อ “ท้าวสามชุมแสง” มาเป็นพระยาครองเมืองนนทบุรี (น่าน) ดังนี้

แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า เมืองน่านเดิมได้ตั้งเป็นรากฐานขึ้นในครั้งใดก็ดีแต่ตามเรื่องราวของเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองน่านในสมัยต่างๆ ข้างต้นนี้ ทำให้เห็นได้ว่าเมืองน่านได้ตั้งมานานแล้วเท่าๆ กับหรือเก่าแก่กว่าเมืองโบราณบางเมืองในล้านนาไทยด้วยกัน ซึ่งต้องมีหลักฐานมาก่อนตั้งที่เมืองวรนครนี้ อนึ่ง ในรัชสมัยของพระเจ้าพ่อรามคำแหง (พ.ศ. 1820 – 1860) ปรากฏในศิลาจารึกว่าเมืองน่านเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นแก่กรุงสุโขทัยเมืองหนึ่งจึงเข้าใจว่าเมืองน่านในครั้งนั้นมิใช่แต่จะได้มีกำเนิดขึ้นด้วยอายุอันช้านาน ยังได้รวมกันตั้งอยู่เป็นบ้านเมืองมีเขตแดนเป็นปึกแผ่นแล้วอีกด้วย แม้จะยังไม่กว้างขวางใหญ่โต แต่ก็คงเป็นเมืองชั้นราชธานี จึงจัดเข้าอยู่ในอันดับว่าเป็นเมืองประเทศราชเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ขึ้นแก่กรุงสุโขทัย

ย้อนไปช่วง อิทธิพลอำนาจทางการเมืองของนครรัฐพะเยาที่มีอิทธิพลเหนือ นครรัฐวรนคร กับการสูญเสียอำนาจการปกครอง วาระแรกที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน หลังจากแคว้นน่านได้ตั้งวรนครขึ้นแล้ว พระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยาก็เข้ามายึดเมืองวรนครเป็นเมืองขึ้น การเข้ามาถือเอาซึ่งเมืองวรนครครั้งนี้เป็นการง่ายมาก มิได้มีการรบพุ่งแต่อย่างใด เพราะทางฝ่ายวรนครไม่ทันรู้ตัว เตรียมการป้องกันไม่ทัน ครั้งนั้นเจ้าเมืองวรนครเป็นผู้หญิง เป็นชายาของพระเจ้าเก้าเถื่อนเจ้าเมืองวรนครอันดับที่ 2 ซึ่งได้ละเมืองวรนครไว้ให้แก่ชายา แล้วไปครอบครองเมืองย่างอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง การที่เสียเมืองวรนครให้แก่แคว้นพะเยาครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าเก้าเถื่อนทำการแก้มือแก่พระยางำเมืองแต่ประการใด เห็นจะไม่มีกำลังพอที่จะทำการตอบแทนนั่นเอง ในพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า ในขณะที่พระยางำเมืองเข้ามาถึงวรนครนั้น นางพระยาวรนครได้หนีออกไปจากเมืองได้ไปคลอดบุตรระหว่างทางเป็นชาย ภายหลังเมื่อกุมารนั้นมีอายุ 16 ปี ได้ถวายตัวอยู่ในราชสำนักพระยางำเมือง และพระยางำเมืองโปรดปรานให้นามว่า ขุนใส่ยศ และให้ไปครองเมืองปราด ส่วนเมืองวรนครนั้น พระยางำเมืองให้นางชายาผู้หนึ่งชื่อว่า อั้วลิมกับบุตรชายชื่อว่าอามป้อมมาครอง ภายหลังนางอั้วลิมเกิดผิดใจกับพระยางำเมืองด้วยเรื่องเป็นเชิงว่าพระยางำเมืองระแวงในความจงรักภักดีของนาง นางเจ็บใจจึงร่วมคิดกับขุนใส่ยศ เจ้าเมืองปราดแข็งเมืองต่อพระงำเมืองและมาตั้งอยู่ที่วรนคร แล้วขุนใส่ยศกับนางอั้วลิมก็คบชู้กันอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภริยา ความทั้งนี้ทราบถึงพระยางำเมืองจึงยกกองทัพมาตีวรนคร ทางฝ่ายเมืองวรนครให้เจ้าอามป้อมเป็นทัพยกออกไปเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายได้ปะทะทำการรบกันเพียงเล็กน้อย พระยางำเมืองก็เลิกทัพกลับไป นับว่าเกิดความสลดพระทัยในการที่บิดากับบุตรต้องมาทำสงครามกัน

ต่อจากนี้ขุนใส่ยศได้อภิเษกเป็นเจ้าเมืองวรนคร มีนามว่า “พระยาผานอง” ในปี 1865 นับแต่นั้นมาการเกี่ยวข้องระหว่างแคว้นพะเยากับแคว้นน่านก็ขาดตอนไปเฉยๆ ไม่มีเรื่องกล่าวถึงกันอีกเลย

ส่วนการเกี่ยวข้องระหว่างเมืองน่านกับกรุงสุโขทัย ได้ความตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมืองน่านเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัย ข้อความทั้งนี้ไม่มีปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน และไม่ทราบว่าไปขึ้นในปีใด ศิลาจารึกนี้เข้าใจว่าจารึกในราว พ.ศ. 1835 พ่อขุนรามคำแหงเสวยราชย์เมื่อราว พ.ศ. 1820 ถ้าคิดอย่างไม่ละเอียดก็ตกอยู่ในระหว่างรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงระยะ 15 ปีนี้ ปัญหาจึงมีว่าเมืองน่านไปขึ้นแก่แคว้นพระเยาก่อนหรือกรุงสุโขทัยก่อน แต่ข้อนี้เมื่อวิจารณ์ตามรัชสมัยของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ คือ พระยางำเมืองเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 1801 และพ่อขุนราม-คำแหงเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 1820 โดยถือว่าเมืองน่านคือวรนครเป็นหลักแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่าเมืองน่านต้องขึ้นแก่แคว้นพะเยาก่อน เพราะถ้าขึ้นแก่กรุงสุโขทัยก่อนแล้ว พระยางำเมืองจะมาตีเมืองน่านมิได้เลย ด้วยเมืองน่านขึ้นแก่กรุงสุโขทัยอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1820 – 1835 และการที่พระยางำเมืองจะมาชิงเมืองขึ้นของพ่อขุนรามคำแหงนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะปรากฏว่าแคว้นพะเยาในสมัยนั้นไม่มีกำลังพอที่จะแย่งอำนาจกับเมืองใหญ่ เช่น กรุงสุโขทัยได้

แม้ว่าจะเป็นอันยุติว่า เมืองน่านขึ้นต่อแคว้นพะเยาก่อนกรุงสุโขทัยแล้วก็ดี แต่เมื่อได้ใคร่ครวญถึงปีที่พระยาผานองแข็งเมืองต่อพระยางำเมือง และขึ้นครองเมืองวรนคร ใน พ.ศ. 1865 แล้วก็ทำให้ฉงนอีก เพราะเมืองน่านขึ้นแก่กรุงสุโขทัยในระหว่าง พ.ศ. 1820 – 1831 ดังกล่าวแล้ว ถ้าเช่นนั้นคำที่ปรากฏในศิลาจารึกว่าเมืองน่านอาจไม่อยู่ในวรนครก็เป็นได้ เมืองย่างเป็นเมืองเดิมอยู่ในแคว้นน่าน ส่วนวรนครเพิ่งจะเกิดทีหลังในราว พ.ศ. 1825 ชะรอยเมืองน่านในศิลาจารึกนั้น จะได้แก่เมืองย่างและคงจะไปขึ้นแก่กรุงสุโขทัยก่อน พ.ศ. 1825 คือประมาณ พ.ศ. 1820 – 1824 ซึ่งก่อนกำเนิดของเมืองวรนคร เมืองวรนครจึงตั้งอยู่เป็นอิสระ แม้สองเมืองนี้ภายหลังจะเป็นเมืองอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมืองวรนครก็เพิ่งจะตั้งขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ ซึ่งพระยางำเมืองก็คงจะถือว่าเมืองวรนครเป็นเมืองอิสระอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงได้ยกกำลังเข้ามาครอบครอง ฝ่ายพระยาผานองเมื่อได้มาตั้งอยู่ที่วรนครแข็งเมืองต่อแคว้นพะเยาแล้ว ในชั้นนี้เองที่ได้เข้าไปสวามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงสุโขทัย ด้วยเหตุนี้เมื่อพระยางำเมืองยกทัพมาปราบวรนคร จึงต้องเลิกทัพกลับไป คงมิใช่เกิดความสลดใจที่จะต้องทำการรบกับลูกอกตัญญูเป็นแน่ต่อมาเมื่อพระยาเก้าเถื่อนเจ้าเมืองย่างถึงแก่พิราลัยแล้ว เมืองย่างก็รวบเป็นเมืองเดียวกับวรนคร

อันดับกาลต่อไป ทางกรุงสุโขทัย เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 ทรงพระนามว่า พระเจ้าฤไทชัยเชษฐ์ หรือพระเจ้าเลอไทในรัชกาลนี้พระเจ้าแสนเมืองมิ่ง พระเจ้ากรุงเมาะตะมะแห่งราชวงศ์ฟ้ารั่วแข็งเมือง แล้วยกกองทัพมาตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรีของอาณาจักรสุโขทัยได้ในปี พ.ศ. 1861 พระเจ้าฤไทยชัยเชษฐ์แต่งกองทัพไปปราบปรามก็ไม่สำเร็จ แต่นั้นมาอาณาจักรสุโขทัยก็เสื่อมลง เป็นเหตุให้บรรดาหัวเมืองขึ้นชั้นนอกพากันกระด้างกระเดื่องขึ้นเป็นลำดับ

ฝ่ายทางอาณาจักรล้านนาไทยราชวงศ์พระยาเม็งรายได้สืบราชสมบัติต่อกันมาจนถึงพระ-ยาคำฟู ได้รวบรวมแคว้นล้านนาอันมีเมืองหริภุญชัย พะเยา และเงินยางให้กลับรวมกันเข้าเป็นอาณา-จักรอันเดียวกัน ต่อจากกษัตริย์องค์นี้มาอีกองค์เดียว ก็ย้ายราชธานีจากเชียงแสนไปตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ตามเดิม

ส่วนอาณาจักรสุพรรณภูมิอันตั้งอยู่ทางทิศใต้ถัดจากอาณาจักรสุโขทัยลงไป เมื่อเจ้าเมืองอู่ทองถึงแก่พิราลัยแล้ว เชื้อสายราชวงศ์เชียงรายผู้เป็นบุตรเขยก็ได้สืบตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเป็นพระเจ้าอู่ทองสืบต่อมาภายหลังพระเจ้าอู่ทองก็ย้ายราชธานีมาตั้ง ณ เมืองอโยธยา เมื่อปี พ.ศ. 1890 และมีอานุภาพอยู่ทางใต้อีกฝ่ายหนึ่ง

ขณะเมื่ออาณาจักรสุโขทัยอ่อนอำนาจลงนั้น ประเทศราชต่างๆ โดยมากก็คิดตั้งตัวเป็นเอกราช แต่กำลังเมืองประเทศราชทั้งปวงไม่สม่ำเสมอกัน ที่เป็นเมืองเล็กเมืองน้อยก็เห็นจะพ้นวิสัยก็คงจะสงบนิ่งอยู่ ไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่าที่จะรักษาเอาตัวรอด แม้เมืองอื่นๆ จะได้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงสุโขทัยไปแล้วเป็นอันมาก แต่เมืองน่านยังคงสงบเป็นปกติอยู่ ยังมีการเกี่ยวข้องกับกรุงสุโขทัยโดยฐานะเป็นเมืองออกอยู่เป็นลำดับมา

เรื่องนี้ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านต่อมาว่า เมื่อ พ.ศ. 1899 (ศักราชนี้ปรากฏในตำนานพระธาตุแช่แห้ง) ว่า พระยาการเมืองสืบมาจากพระยาผานองได้เป็นเจ้าเมืองวรนคร ในกาลครั้งนั้นพระยาโสปัตตกันทิ เจ้าเมืองสุโขทัย ได้ใช้มาเชิญพระยาการเมืองไปช่วยพิจารณาสร้างวัดหลวงอภัยในกรุงสุโขทัย ครั้นสร้างเสร็จแล้ว เจ้าเมืองสุโขทัยได้ให้พระบรมธาตุแก่พระยาการเมือง อันเป็นมูลเหตุของการประดิษฐานพระบรมธาตุของเมืองน่านอีกเรื่องหนึ่ง โดยพระยาการเมืองได้มาเลือกชัยภูมิในอันที่จะประดิษฐานพระบรมธาตุ และเลือกได้สถานที่ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้งในกาลต่อมา